Search
Search

ปัญหาการศึกษาไทยแก้ได้ที่ต้นตอ

วันนี้ขอลอก “บันทึก” ของตัวเองที่เขียนไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวมานำเสนอ และเพิ่มเติมความคิดเข้าไปอีกบางส่วนนะครับ เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณาแก้ปัญหาช่วยกัน

ตอนนี้คงจะไม่มีใครปฏิเสธถึงความล้มเหลว ในการจัดการศึกษาไทยได้แล้วว่า “ต้นตอมาจากครู” อย่าเพิ่งเริ่มต้นด่าผมซิครับ ถ้ายังอ่านไม่จบ ลองอ่านและพิจารณากันดูนะครับ ไม่ตรง ๑๐๐% ก็ใกล้เคียงล่ะ ไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ ๙๐ ด้วย

“ครู” นิยามนี้เหมารวมหมด ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง ไล่เรียงลงมาจนถึงครูน้อย ครูอัตราจ้าง ครูที่ถูกจ้างสอนเลยทีเดียว

ในอดีตการก้าวเข้าสู่อาชีพ “ครู” นั้นคือ การคัดเลือกเอาหัวกระทิ คนเก่ง คนดี ไปร่ำเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครูซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในประเทศ คั้นจนได้หัวกระทิ แล้วส่งออกไปทำงานในถิ่นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อต้องการเพิ่มเติมความรู้ให้ครู ก็มีสถาบันในระดับอุดมศึกษาให้เข้าไปร่ำเรียนศึกษาต่อ เช่น วิทยาลัยวิชาการศึกษา หรือที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้ปริญญา (พร้อมภูมิรู้) มาจัดการศึกษาให้จำเริญรุ่งเรือง

ต่อมาเมื่อมีสหวิทยาการหลากหลายมากขึ้น คนเก่งหลายๆ คนก็เลือกที่จะศึกษาต่อในแขนงวิชาอื่นที่ไม่ใช่ “อาชีพครู” ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร สถาปนิก และอื่นๆ สถาบันการผลิตครูที่เกิดเพิ่มเติมมากขึ้น จากโรงเรียนฝึกหัดครู เป็นวิทยาลัยครูที่ยังผลิตครูออกมาอีกมาก สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรครูก็มีหลายแห่งขึ้น ทั้งคณะศีกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ในทุกภาคส่วนของประเทศมีนโยบายผลิตครูมากขึ้นจนล้นเกินความต้องการ มีบัณฑิตครูมากมายหลายสาขาจากหลายสถาบันตกงาน ล้นตลาด ความนิยมในการเรียนวิชาชีพครูมีน้อยลง

ครูมืออาชีพ

และแล้วความเปลี่ยน แปลงก็เริ่มมีมากขึ้นจนผิดทิศผิดทาง สถาบันผลิตครูเริ่มเปลี่ยนอุดมการณ์ พร้อมเปลี่ยนชื่อสถาบัน และเปิดสอนวิชาด้านอื่นๆ มากขึ้นและมีการโฟกัสจุดมุ่งหมายของสถาบันไปตามอัตตาของผู้บริหาร เปิดสาขาอะไรก็ได้ที่ทำให้มีคนเรียน(ได้ปริญญา) เปิดกันทั้งวันปกติ วันหยุด ทั้งในที่ตั้งนอกที่ตั้ง ครู(อาจารย์)สายฝึกหัดครูเริ่มแก่และเกษียณอายุราชการออกไป ไม่มีเพชรเม็ดงามมาทดแทน คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เป็นคณะลูกเมียน้อย หันไปบูมคณะสังคมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ธุรกิจ นิติศาสตร์ยังมีเลย

นักเรียนยุคหลังเลือกเรียน “ครู” เพราะสอบคัดเลือกเข้าเรียนคณะอื่นไม่ได้ ผมเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนในสถาบันราชภัฏอยู่ ๒ ปี ได้นั่งคุยกับลูกๆ นักศึกษาทั้งหญิง/ชายได้รับรู้ว่า ที่ต้องมาเรียนก็เพราะไม่อยากไปอยู่บ้านทำนาช่วยพ่อแม่ มาเรียนแก้ขัดได้เงินรายเดือนมาใช้จ่าย ขัดสนไม่พอก็กู้ยิม กยศ. พอได้ค่าเบียร์ค่าเหล้า งวดรถมอเตอร์ไซค์ ได้กินหมูกระทะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ทุกๆ เดือน ไม่ได้อยากเป็นครูนักหรอก อาจจะซิ่วไปสอบเรียนสาขาใหม่ในปีหน้า ถ้าไม่ได้ก็สู้ทนหวานอมขมกลืนเรียนให้จบๆ หางานทำอะไรก็ได้ แบบไม่มีเป้าว่าจะไปเป็นครู จนผมเองก็ท้อที่จะไปพร่ำสอนกับ… จะบอกว่า สอนหลักเสารั้ว หัวตอ ก็ไม่ผิด มาเข้าห้องเรียนเพื่อเช็คชื่อ เล่นเกม ขาไขว้กันหยอกล้อตามวิสัยหนุ่มสาว เฮ้อ… กรรมของพ่อแม่ที่อุตส่าห์ทำนาส่งควายเรียนจริงๆ

212192

ได้คุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ใน สสวท. หลายท่าน กับการพัฒนาครูสู่โรงเรียน คงจำกันได้โครงการ สควค. ที่หยุดชะงักไป สาเหตุไม่ใช่เพราะขาดงบประมาณ แต่เป็นการขาดอาจารย์ผู้สอนตามเป้าหมายของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยที่ร่วม โครงการมากกว่า เมื่อมีจำนวนอาจารย์ที่ตรงกับข้อกำหนดในหลักสูตรไม่ครบ คุณภาพของการจัดการศึกษาก็ไม่เป็นที่ยอมรับ แล้วอาจารย์เหล่านั้นไปไหน? คำตอบคือ เกษียณอายุออกไปไม่มีอัตราเพิ่มใหม่ อาจเป็นที่นโยบายของผู้บริหารสถาบันเหล่านั้น ไม่เห็นความสำคัญของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์นั่นเอง สู้เปิดสาขาที่ตลาดเรียกร้องสอนกันทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ทำเงินได้ดี กว่า

ยุคนี้เป็น “ยุคทอง” ของอาชีพครู เพราะถ้าพูดถึงความก้าวหน้าในอาชีพราชการแล้ว เป็นไปได้ดีกว่าสายพลเรือน ก.พ. ยิ่งนัก เงินเดือนไต่สูงขึ้นได้เร็ว มีค่าตอบแทนวิทยฐานะให้อีก (แต่จุดนี้ก็เป็นจุดเสื่อมของการศึกษาเหมือนกัน เพราะผลสัมฤทธิ์ที่อ้างเพื่อทำผลงานนั้นมันสวนทางกับการเรียนรู้ของเด็กไทย เสียจริง) เราจึงเห็นมีคนเก่งเริ่มหันมาเลือกเรียนวิชาครูมากยิ่งขึ้น เราคงจะได้ “ครู” ที่ดีมีคุณภาพ ถ้า…

ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาชีพครู (ตัวอาจารย์ผู้สอน) มีคุณภาพอย่างเช่นในอดีต ณ จุดนี้ การเร่งพัฒนาคุณภาพระดับอาจารย์ผู้สอนในสายศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการโดยด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับคุณภาพของตัวป้อน (นักศึกษาครู) ที่มีความสามารถและตั้งใจจริงที่จะก้ามาวเป็นครูมืออาชีพต่อไป

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในการผลิต “ครูยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่” หรือจะชื่ออะไรที่โก้หรูก็แล้วแต่ จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษดังนี้

  • ความมุ่งมั่น ต้องยอมรับส่วนหนึ่งของผู้คนในอาชีพครูทุกวันนี้คือ ขาดความมุ่งมั่น ในการจัดการเรียนการสอน คือสอนตามที่ได้รับมอบหมาย สอนตามหนังสือ สอนตามหลักสูตร เท่านั้น จบ… ลูกหลานของเราก็คงมีความรู้แค่นั้น แค่ตามในหนังสือ แค่ตามความรู้ที่ครูมี แต่ถ้าครูมีความมุ่งมั่นในการทำงานจัดการศึกษา ครูจะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มาให้ศิษย์ ชี้ทางผิดทางถูกให้ก้าวเดิน ประคับประคองลูกศิษย์ให้เดินในทางที่ถูกต้องไม่ย่อท้อ
    หลายท่านบ่นกับผมว่า “ท้อแท้” ไม่ก้าวหน้า หดหู่ หมดกำลังใจ สาเหตุที่แก้ได้ง่ายๆ คือ ตัวหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาต้องส่งเสริมให้กำลังใจ ถ้าหัวหน้าลอยตัวจากปัญหา เอาแต่ความดีใส่ตัว ถีบความชั่วใส่ครู ว่า “เฮ้ย พวกเอ็งมันสอนไม่ได้เรื่อง ดูซิคะแนนสอบโอเน็ต สอบสารพัดมันรูดทะราด เบื้องบนเขาด่ามา ต้องแก้ไขนะ ไม่งั้นอดขั้นเงินเดือน” แบบนี้โรงเรียนก็มีแต่ต่ำเตี้ยติดดิน ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ครู มันอยู่ที่เอ็ง “ไอ้ผู้บริหารโง่ๆ” นี่แหละ
    แก้ไขปัญหาซิครับ ผู้บริหารต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการเรียนการสอน ก็มาจากการเป็นครูเหมือนกันก็ต้องสอนเป็น ไม่ลงไปสอนก็ต้องคอยนิเทศติดตามอย่างจริงจัง เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คิดหน่อยนะ…
  • คุณธรรม จริยธรรม ขาดกันมาก ไม่ได้หมายถึงแต่ครูนะครับ คนส่วนใหญ่ในสังคมนี่เลย การที่ครูมีคุณธรรม จริยธรรม ย่อมเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็ก ถ้าโลกวันนี้มันโหดร้ายนักก็ให้คนรุ่นนี้ตายจากไป โดยมีคนรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มาทดแทนเถิด เอากันง่ายๆ ที่ไม่อยากเห็น “เรียนในห้องไม่เข้าใจ ไปเรียนพิเศษกับครูนะ” หรือที่เด็กกระซิบกระซาบกัน “เฮ้ยดูซิ นังก. ไก่ ไปเรียนพิเศษกับครู งานไม่ส่ง การบ้านไม่ทำ ยังได้เกรดสี่เลยว่ะ” ขอให้หมดไปเถอะครับ
  • ความเสียสละ บอกเลยในยุคสิบปีให้หลังก่อนที่ผมจะออกจากวงราชการ ได้ทำงานกับเพื่อนพ้องน้องพี่หลายครั้งหลายครา สังเกตเห็นคนรุ่นใหม่ขาดการเสียสละในการทำงานมาก ช่างมีธุระปะปังมากมาย จะนัดทำงาน/ประชุมในวันหยุดจะบ่น ขาด มาบ้างแล้วแว๊บหาย ยุ่งปานนักธุรกิจพันล้าน แต่แอบส่องเฟซบุ๊คไปนั่งสังสรรค์เพิ่มดีกรีที่หาดกูละเบื่อโน่น ให้ดูแลสอนเสริมนักเรียนก็ทิ้งห้องสั่งการไว้แล้วหาย มาทำงานก็สายแต่เลิกก่อนเวลา พร้อมหน้าเวลาเบรกหรือพักกลางวัน (ชอบนักกินฟรี) นี่ไงต้นแบบเลวๆ ในโรงเรียนที่ส่งผลไปยังลูกศิษย์ ครูเบี้ยวได้นักเรียนก็เบี้ยวได้เหมือนกัน แม่ปูสอนลูกปูไงครับ
prof teachers

ถ้าสถาบันการฝึกหัดครูทั้งหลายได้เป็นตัวอย่าง (ครู อาจารย์ผู้สอนในสถาบันเหล่านั้น) สร้างแบบแผนที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี นอกจากความรู้ทั้งหลายที่ถ่ายทอดให้แล้ว วิชาชีพครู” อันได้แก่ การวัดผล/ประเมินผล การออกแบบการเรียนการสอน จิตวิทยาการเรียนรู้ หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร ทักษะการจัดการเรียนรู้ ปรัชญาและหลักการศึกษา ฯลฯ รวมทั้งจิตสาธารณะและความมุ่งมั่นที่ผมบอกไว้ข้างบนต้องผนึกรวมในตัวครูพันธุ์ใหม่ให้ได้

เพื่อนผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนคนหนึ่งบอกว่า “อยากดูคุณภาพของผู้บริหารโรงเรียนให้ดูสภาพของโรงเรียน และหากอยากดูคุณภาพของครูให้ดูสภาพของนักเรียนที่สอน ระดับความรู้และวิทยฐานะของครูไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพนักเรียน แต่ความรับผิดชอบและความเอาใจใส่ต่อนักเรียนที่สอนทุกคนต่างหากที่ส่งผลต่อ คุณภาพนักเรียน เป็นคำกล่าวที่เป็นความจริงเสมอ” ก็ลองสำรวจโรงเรียนรอบตัวท่านดูเถิด

ขอภาวนาให้ประสบผลสำเร็จด้วยเถิด ผู้บริหารการศึกษามองเห็นต้นตอแห่งปัญหาเสียที แล้วเริ่มต้นช่วยกันแก้ไข ณ บัดนาว…

%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a8%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89